RSS

ประสบการณ์น่ารู้เกี่ยวกับ"การสอนโครงงานคุณธรรม"

ประสบการณ์น่ารู้เกี่ยวกับ"การสอนโครงงานคุณธรรม"

                                                                                                              

          ขอเล่าประสบการณ์จาก "การสอนโครงงานคุณธรรม"   ความจริงการสอนแบบนี้ดิฉันจำได้ว่า  ดิฉันได้เริ่มใช้วิธีการสอนแบบนี้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2530  เรียกว่า ดิฉันสอนแบบคิดว่าน่าจะเป็นจะดีกว่า   โดยประยุกต์จากการเขียนโครงการให้โรงเรียน เพราะตำรับตำราการสอนโครงงานขณะนั้นก็ยังมีไม่มากเหมือนเช่นปัจจุบัน ประกอบกับดิฉันโชคดีที่มีหัวหน้าหมวดสังคมศึกษา (ปัจจุบันเรียกว่ากลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา  ศาสนา  และวัฒนธรรม)  โรงเรียนนนทรีวิทยาชื่อ  อาจารย์ลัดดาวัลย์  หลวงพิทักษ์  ท่านได้ชวนเข้าทีมฝึกเป็นวิทยากรถ่ายทอดวิธีการสอนแบบจุลภาค หรือ micro - teaching กับการสอดแทรกคุณธรรมในการสอนเพื่อปลูกฝังคุณธรรมสำหรับนักเรียนให้กับ อาจารย์ของโรงเรียนในกลุ่ม 3 ซึ่งขณะนั้นท่านเป็นประธานกลุ่มอยู่  โดยมีอาจารย์แพทย์ 2 ท่านที่ให้ความรู้การสอดแทรกคุณธรรมอย่างลึกซึ้ง  คือนายแพทย์โรจน์รุ่ง และแพทย์หญิงศรีธรรม  ดิฉันยังไม่ลืมพระคุณท่านจนถึงปัจจุบันเลยค่ะ   ดิฉันได้นำความรู้ของท่านมาใช้สอนอยู่ทุกวันนี้
          
                   เมื่อ"โครงงานคุณธรรม"เป็นที่นิยม เป็นที่สนใจของคุณครูในขณะนี้ ถ้าไม่นำมาบอกเล่ากันเสียบ้าง เกรงว่าภูมิความรู้ที่ได้จากประสบการณ์คงสูญหายไปตามกาลเวลาอย่างแน่นอน  ดิฉันมักได้ยินเพื่อนครูว่า สอนอย่างไรเด็กๆถึงทำโครงงานได้เสียที เพราะเด็กๆยังไม่ได้โครงงานทำเลย  ดูเด็กไม่สนใจที่จะทำโครงงานเลย  ครูบางคนก็บอกว่า ยังไม่ได้เรื่องเลยมีแต่จะเลี้ยงปลาอย่างเดียว  ไม่ทราบจะให้คำแนะนำแก่ลูกศิษย์อย่างไรจึงเป็นแรงกระตุ้นหรือแรงบันดาลใจให้ เขาสร้างผลงานในโครงงานได้ดีๆไปพร้อมกับการปลูกฝังให้มีคุณธรรมปฏิบัติจน เป็นนิสัย   ความจริงการสอนแบบนี้ดิฉันอยากบอกว่า  ไม่ยากเลยค่ะ จะสนุกกับมันเสียด้วยซ้ำ เพียงแต่ครูจะต้องเหนื่อยหน่อย ที่สำคัญเราต้องติดตามดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดเด็กให้มาก แต่ผลลัพธ์ที่ได้ตามมาคือได้ใจเด็ก   คราวนี้เราจะให้ทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น  ชี้นกเป็นนก  ชี้ไม้เป็นไม้    เขาจะจัดการทุกอย่างเป็นระบบมีกระบวนการมากยิ่งกว่าที่เราบอก  รวมทั้งเขาจะศรัทธาในตัวครู  เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย  มีปัญญาไม่ใช่เด็กหุ่นยนต์ที่ทำตามคำสั่งแต่ไร้การคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์


 



          ถ้า เราทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการเขียนโครงงานควบคู่ไปกับการฝึกสอดแทรก คุณธรรม โดยครั้งแรกเพื่อนครูอาจใช้วิธีการสอนแบบจุลภาค หรือ micro - teaching โดยหาทีมซัก 4-5 คน ช่วยผลักเปลี่ยนดูการสอนของเราว่านำไปใช้สอนได้หรือยัง  (อย่าลืมทำแผนการสอนด้วยนะค่ะ)  ติชมกันก่อนแบบนี้ก็จะทำให้เรามั่นใจและไม่ผิดพลาดในการสอนได้  แต่จะมีครูสักกี่คนที่ได้ทำเช่นนี้ได้เพราะเวลาจำกัดอย่างที่ทราบๆกันอยู่ แล้ว  ไหนจะสอนจำนวนหลายวิชา หลายคาบ แถมบางคนสอนวิชาไม่ถนัดอีก  เรียกได้ว่ามีปัญหาร้อยแปดพันเก้านั่นแหละค่ะ  จริงไหมคะ

          จาก การเป็นที่ปรึกษาโครงงานคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติ   เยาวชนทำดี  ถวายในหลวง และที่ปรึกษาโครงงานคุณธรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของเด็กชั้นมัธยม ศึกษาปีที่  3/11-3/12  การสอนของดิฉันที่ช่วยกระตุ้นทำให้เด็กๆได้โครงงานคุณธรรมดีๆหลายโครงงานโดย ให้ใช้ความสามารถ หรือหาจุดแข็งของกลุ่มที่ มีคุณพ่อคุณแม่ คุณปู่ คุณย่า  หรือญาติ  มีความสามารถงานประดิษฐ์ต่างๆ นำภูมิปัญญาของท่านให้ท่านสอนมาทำเป็นโครงงานคุณธรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียงส่งผลให้เด็กกลุ่มหนึ่งทำโครงงานดอกคาร์เนชั่นสวย  เสริมรายได้ ลดปัญหาขยะถุงพลาสติก  ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันระดับศูนย์พัฒนาวิชาการ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา  ศาสนา  และวัฒนธรรม สพท.สป.2 การกระตุ้นให้นักเรียนคิดถึงความสามารถในกลุ่ม ส่งผลให้เด็กคิดได้อย่างง่ายดาย  ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งได้ข้อคิดใช้ความรู้ซึ่งเรียนมาในระดับประถมเรื่องการ ประดิษฐ์ปลาจากขวดพลาสติกมาต่อยอดในการทำโครงงานเรื่อง  ลดขวดพลาสติกในโรงเรียนเพิ่มรายได้จากปลาสวยงาม เช่นเดียวกับกลุ่มซึ่งทำโครงงานจากกระดาษไร้ค่าให้เป็นเงินด้วยเปเปอร์มาเช่ โดยเด็กกลุ่มนี้ให้ชื่อว่า "พอเพียงเยี่ยงพ่อด้วยเปเปอร์มาเช่  ลดปัญหากระดาษม.3/12 และกลุ่มโครงงานเศรษฐกิจพอเพียงจากกล้วยในชุมชนวัดศรีวารีน้อย  หรือกลุ่มโครงงาน กะลามะพร้าวเสริมรายได้ใช้จุดแข็งของกลุ่มที่บ้านปลูกมะพร้าว แล้วลูกมะพร้าวล่นทิ้งเกลื่อนบ้านและมีพ่อประดิษฐ์เครื่องใช้จากกะลามะพร้าว ช่วยสอนให้  ส่วนอีกกลุ่มมีคุณแม่ประดิษฐ์ดอกไม้จากถุงใยบัวได้สวยงาม  ก็ได้เรียนรู้วิธีการประดิษฐ์จนในที่สุดได้คิดเป็นโครงงาน หนึ่งทีม หนึ่งผลิตภัณฑ์  ดอกไม้จากถุงใยบัว  นี่เป็นส่วนหนึ่งของโครงงานคุณธรรมที่เด็กๆได้คิด และอยู่ระหว่างดำเนินการในโครงงานคุณธรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
           ตามทฤษฎีขั้นตอนในการทำโครงงานคุณธรรม   มีขั้นตอนสำคัญ  6  ขั้นตอน ดังนี้
                     ขั้นตอนที่  1   การตระหนักรู้และพิจารณาเลือกหัวเรื่องหรือประเด็นปัญหา
                     ขั้นตอนที่  2   การรวบรวมประมวลข้อมูลและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง
                     ขั้นตอนที่  3   การจัดทำร่างโครงงาน
                     ขั้นตอนที่  4   การดำเนินการโครงงาน
                     ขั้นตอนที่  5   การสรุปประเมินผลและเขียนรายงาน
                     ขั้นตอนที่  6  การนำเสนอโครงงาน

 

 
 
             แต่สิ่งหนึ่งของการสอนโครงงานคุณธรรมที่คุณครูควรคำนึงถึงอย่างยิ่งคือ  การให้เด็กๆคิดวิเคราะห์สิ่งที่ปฏิบัติไปว่ามีความสัมพันธ์กับคุณธรรมเรื่อง ใด   ไปพร้อมๆขณะทำโครงงาน  และต้องสอนทันทีถ้าเห็นเด็กๆกำลังบกพร่องคุณธรรมเรื่องใดทั้งนี้เพื่อให้เขา จะได้เข้าใจในสิ่งที่เขาได้ปฏิบัติลงไป จึงกล่าวได้ว่า  "โครงงานคุณธรรม"  เป็นกิจกรรมการเรียนรู้เชิงบูรณาการที่พัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้คู่คุณธรรม หรือมีความดีงามอย่างแท้จริงด้วยการได้ปฏิบัติจนเป็นนิสัยกลายเป็นคุณลักษณะ หรือค่านิยมอันที่พึงประสงค์ของผู้เรียนซึ่งได้จากการเรียนรู้โครงงานที่ผู้ เรียนพึงพอใจพร้อมกำหนดหลักธรรมทางศาสนาหรือตามค่านิยมอันพึงประสงค์ในหลัก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาบูรณาการให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ เป็นองค์ความรู้ในการเตือนตนให้นำหลักธรรมหรือค่านิยมที่พึงประสงค์ไป ประยุกต์ใช้ในโครงงานโดยประเมินตนเองเป็นระยะๆนับตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงงานจน สิ้นสุดโครงงาน ที่สำคัญสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือการให้เด็กบันทึกสิ่งที่ตน ปฏิบัติซึ่งเด็กๆส่วนใหญ่ไม่ค่อยปฏิบัติกันดังนั้นคุณครูควรเน้นเรื่องนี้ ด้วยก็จะดีมากค่ะ
            จึงกล่าวได้ว่า  โครงงานคุณธรรมเป็นโครงงานมุ่งเน้นกระบวนการทางปัญญาในการสังเกตสำรวจค้น คว้าคิดวิเคราะห์คิดสังเคราะห์จนเข้าใจในประเด็นที่เลือกมาทำโครงงานได้ตลอด สายระหว่าง ปัญหา-สาเหตุ-เป้าหมาย-ทางแก้ อย่างสอดคล้องสัมพันธ์กันเป็นเหตุเป็นผลควบคู่กับการบ่มเพาะปลูกฝังสร้าง เสริมคุณธรรมให้เกิดขึ้นในผู้เรียนเป็นประการสำคัญ
 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น